สมองล้าดูแลอย่างไรดี

รู้จักกับภาวะสมองล้า
ภาวะสมองล้า (Brain Fog Syndrome) คือ ภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัวจากการที่สมองถูกใช้งานอย่างหนักเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจเกิดจากความเร่งรีบที่จะทำงานให้เสร็จ การพักผ่อนน้อย หรือการทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป ทำให้สารสื่อประสาทในสมองซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเซลล์ของระบบประสาทเสียสมดุล ประสิทธิภาพการทำงานของสมองจึงแย่ลง มีการเปรียบเทียบไว้ว่าเหมือนมีหมอกลงในสมองทำให้ไม่สดใส Brain Fog Syndrome หากเกิดบ่อยครั้งจะกลายเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคกระเพาะ, โรคอ้วน, ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ, โรคเบาหวาน ฯลฯ

สาเหตุของภาวะสมองล้า
ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่มีส่วนสำคัญที่ทำให้โอกาสเกิดภาวะสมองล้าเพิ่มมากขึ้น ได้แก่

  • คลื่นแม่เหล็ก จากการใช้งานคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บแล็ตมากเกินไป รบกวนการหลั่งสารสื่อประสาทในสมอง
  • ความเครียด ทำให้การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เกิดอาการมึนงง ความจำแย่ลง
  • นอนดึก นอนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย
  • ขาดสารอาหาร อาทิ กรดอะมิโน วิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ
  • สารพิษในชีวิตประจำวัน เช่น มลภาวะ สารเคมี โลหะหนัก ยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนในอากาศ น้ำ และอาหาร

อาการเตือนของภาวะสมองล้า

  • นอนไม่หลับ
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง
  • สายตาอ่อนเพลีย
  • อารมณ์แปรปรวน
  • หงุดหงิดง่าย
  • ขี้หลงขี้ลืม
  • ความจำระยะสั้นแย่ลง
  • สมาธิในการทำงานลดลง
  • ความคิดสร้างสรรค์ที่เคยมีหายไป
  • ลางานบ่อย
  • ไม่สดชื่น

รักษาสมองไม่ให้ล้า
การรักษาภาวะสมองล้าจำเป็นที่จะต้องปรับวิธีการใช้ชีวิต ทั้งในด้านพฤติกรรม อาหาร จิตใจ การออกกำลังกาย รวมถึงการล้างสารพิษ ได้แก่

  • ควบคุมการใช้เทคโนโลยีในเวลาที่เหมาะสม ไม่นานจนเกินไปหรือตลอดทั้งวัน ควรหยุดพักบ้างเป็นระยะ
  • คิดบวก มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน ไม่เครียด
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยบำรุงสมอง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7 – 8 ชั่วโมง และควรนอนในเวลา 4 ทุ่มไม่เกินเที่ยงคืน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะช่วยให้สุขภาพสมองแข็งแรง
  • เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และไม่ดื่มกาแฟในช่วงเย็นเพราะอาจรบกวนการนอนหลับ
  • ท่องเที่ยวธรรมชาติเพื่อผ่อนคลายและได้สูดออกซิเจนให้เต็มปอด ช่วยเติมพลังชีวิตได้ดี